เลือกวิธีคุมกำเนิดแบบไหนให้เหมาะสมกับตัวเอง

Infographic summarizing options for birth control


เขียนสรุปเป็น 20 ข้อ ตามนี้ 


1.การคุมกำเนิดแบ่งได้เป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ ก็คือ  คุมกำเนิดแบบถาวร และ คุมกำเนิดชั่วคราว 

2.คุมกําเนิดแบบถาวร คือ การทำหมัน เช่น การผูกตัดท่อนำไข่ในผู้มีรังไข่ การผูกตัดท่อนำอสุจิในผู้มีอัณฑะ ซึ่งการคุมกำเนิดแบบนี้เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการมีลูกแล้ว 

3.คุมกําเนิดแบบชั่วคราวก็ตรงตามชื่อเลย จึงเหมาะสำหรับคนที่อาจจะอยากมีลูกในอนาคต โดยในบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวเท่านั้น 

4.คุมกําเนิดแบบชั่วคราวสามารถแบ่งได้เป็นอีก 2 แบบใหญ่ ๆ ก็คือ ระยะสั้น กับ ระยะยาว 

5.แบบระยะสั้น (หลักเดือน) ได้แก่ กินยาคุมกำเนิดแบบแผง ฉีดยาคุมทุกเดือน ฉีดยาคุมทุก 3 เดือน หรือ ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด 

6.แบบระยะยาว (หลักปี) ได้แก่ ฝังยาคุมกำเนิด หรือใส่ห่วงคุมกําเนิด ซึ่งสามารถคุมได้ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แล้วแต่ชนิด 

7.ไม่ว่าจะเลือกการคุมกำเนิดแบบไหน  สิ่งที่ควรทำคู่ไปด้วย คือ การใส่ถุงยางอนามัย เพื่อเป็นการป้องกัน 2 ขั้น (Double Protection) เผื่อแผนใดแผนนึงผิดพลาด และที่สำคัญยังเป็นการป้องกัน โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย 


8.อายุ – จริง ๆ อายุไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการเลือกวิธีการคุมกำเนิด แต่อาจมีผลทางอ้อมอยู่บ้าง เช่น คนอายุน้อยที่ไม่เคยคลอดลูกอาจไม่เหมาะกับการใส่ห่วงอนามัยเพราะอาจจะเจ็บได้ตอนใส่ หรือคนอายุมากที่มีโรคประจำตัวอาจไม่เหมาะกับการใช้ยาคุมกำเนิดบางประเภท จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน 

9.ช่วงเวลาที่ต้องการคุมกำเนิด – หากต้องการคุมนาน ๆ หลายปี การเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดแบบระยะยาวไปเลยก็ดี เพื่อจะได้ไม่ต้องมาซื้อยาคุมเป็นแผง หรือไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ เพื่อฉีดยา 

10.ความถี่ห่างในการมีเซ็กซ์ - ไม่ว่าคนจะมีเซ็กซ์บ่อยแค่ไหน หรือนาน ๆ มีเซ็กซ์สักครั้ง ความถี่ห่างไม่ได้เป็นประเด็นหลักในการเลือกวิธีการคุมกำเนิด จึงขอเน้นว่าคนที่นาน ๆ มีเซ็กซ์ครั้งก็ควรวางแผนคุมกำเนิด ไม่ใช่ว่ารอวันที่มีเซ็กซ์แล้วมาใช้แผนสำรองด้วยการกินยาคุมฉุกเฉิน 

11.ขี้ลืม - คนที่ขี้ลืมไม่เหมาะกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีกินยาแบบแผง เพราะหากลืมบ่อย ๆ จะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดแย่ลง จึงแนะนำให้เลือกวิธีที่ไม่ต้องอาศัยความจำมาก เช่น ฝังยาคุมกำเนิด 

12.ขี้กังวล – ลองพิจารณาดูว่าเราใช้ยาคุมกำเนิดได้ดีพอหรือยัง เช่น ถ้ากินยาแล้วไม่ลืมเลย หรือเราก็ฝังยาคุมมาแล้ว และยังใช้ถุงยางร่วมด้วย ก็อยากบอกว่ามันคุมกำเนิดได้ดีแล้วไม่ต้องกังวลจนเกินไปนัก ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากินยาคุมแบบไม่เคยลืมสักเม็ด แต่วันนั้นถุงยางแตก กรณีแบบนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องกินยาคุมฉุกเฉินเพิ่มเข้าไปอีก 

13.ค่าใช้จ่าย - วัยรุ่นที่อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์มีสิทธิ์ในการได้รับยาฝังคุมกำเนิด หรือใส่ห่วงอนามัยฟรีตามนโยบายของทางภาครัฐ แต่ในทางปฏิบัติอาจจะพบว่าบางสถานพยาบาลยังเก็บค่าใช้จ่ายอยู่ จึงขอแนะนำให้โทรสอบถามข้อมูลก่อน หรือ ตรวจสอบจากสถานพยาบาลในเว็บไซต์ https://www.rsathai.org/healthservice ที่รวบรวมสถานพยาบาลที่ค่อนข้างเข้าใจเรื่องสุขภาพเพศวัยรุ่น 

14.ค่าใช้จ่าย - คนที่อายุเกิน 20 ปีแล้วให้เช็คสิทธิ์การรักษาของตนเองโดยเข้าที่เว็บไซต์ https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml เพื่อดูว่าสิทธิ์ของตนอยู่ที่ไหน ถ้าไปที่นั่นมักจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า  บัตรทองและบัตรประกันสังคม ลองตรวจสอบผ่านแอปเป๋าตัง --> กระเป๋าสุขภาพ เห็นว่าครอบคลุมเรื่องคุมกำเนิดและตรวจคัดกรองมะเร็งด้วย แต่ยังไงก็ตามลองสอบถามสถานพยาบาลนั้น ๆ โดยตรงอีกครั้งนะ 

15.ถ้าจะกินยาคุมกำเนิดแบบแผงควรเลือกยี่ห้อไหนดี - ขอแนะนำว่าเลือกยี่ห้อที่ตัวเองมีกำลังทรัพย์จ่ายไหว และปรึกษากับเภสัชกรที่ร้านยาเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม หากเริ่มกินยี่ห้อใดไปแล้วมีปัญหา เช่น ปวดหัว เลือดออกช่องคลอด แนะนำให้นำยาเดิมกลับไปปรึกษาเภสัชกรเพื่อทำการปรับยา หรือปรึกษาแพทย์เลยก็ได้ 



16.คนที่กินยากันชัก หรือยาต้านไวรัส ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการคุมกำเนิดเสมอเพราะยาบางตัวอาจมีปฏิกิริยากับยาเหล่านั้นได้ 

17.แอลกอฮอล์ไม่ได้ทำให้ยาคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพลดลง แต่การกินแอลกอฮอล์แล้วเมาต่างหากที่อาจจะทำให้ลืมกินยาก็เลยมีฤทธิ์คุมกำเนิดที่แย่ลงได้ 

18.การหลั่งนอกและการนับหน้า 7 หลัง 7 ไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่แนะนำเพราะเสี่ยงมาก ๆ ที่จะท้องได้ 


19.ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ควรใช้วิธีนี้ในการคุมกำเนิด เพราะมีประสิทธิภาพต่ำ และยังทำให้เมนส์มาผิดปกติได้ 



20.ย้ำอีกทีว่าการคุมกำเนิดเป็นคนละเรื่องกับการติดเชื้อ และวิธีเดียวที่ป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ดีก็คือการใส่ถุงยางอนามัย 



บทความนี้เป็นคำแนะนำเบื้องต้นเพื่อให้นำข้อมูลไปพิจารณาว่าตัวเราเองเหมาะกับการคุมกำเนิดแบบไหน แต่ถ้ามีโรคประจำตัวหรือมีความกังวลใด ๆ เพิ่มขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกการคุมกำเนิด 


ในโอกาสนี้ขอขอบคุณพญ.ณิชา อัศวโภคี ที่มาร่วมพูดคุย ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของบทความนี้อีกครั้ง และเช่นเคยหากใครมีประสบการณ์ในการเลือกการคุมกําเนิดวิธีต่าง ๆ อยากแลกเปลี่ยน ขอเชิญได้นะคะ


เพจน้องสาว

ใหม่กว่า เก่ากว่า